- รายละเอียด
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 5950
การฝึกอบรม Internship : ความคิดเห็น
รศ. กนกรัตน์ สุขะตุงคะ
สืบเนื่องจากการประชุมประจำปีของสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ที่จังหวัดขอนแก่นเมื่อกลางเดือนมกราคมที่ผ่านมานั้น มีหัวข้อในการถามตอบจากน้องถึงพี่เกี่ยวกับหลักสูตร Internship ที่น่าสนใจ คิดว่าการคลี่ให้เห็นว่าหลักสูตรนี้ทำไมต้องมี ข้อดีข้อเสียมีอะไรบ้าง จะปรับเปลี่ยนได้บ้างหรือไม่จะเป็นการทำให้สมาชิกทั้งเก่าและใหม่ได้ข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ในการทำความเข้าใจและไม่สร้างความสับสนหรือคาดหวังเกินความเป็นจริง
ที่มาของหลักสูตรก็คงไม่เขียน ณ ที่นี้เนื่องจากสามารถหาอ่านได้จากคู่มือมาตรฐานวิชาชีพและคู่มือการฝึกอบรม Internship สิ่งที่จะเขียนต่อไปนี้คือข้อมูลที่จะให้ผู้อ่านใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจอย่างเป็นธรรมด้วยตนเองว่าหลักการและเหตุผลที่ทำให้เกิดหลักสูตรนี้สมควรหรือไม่อย่างไร เพราะในทางจิตวิทยาเราถือว่าความคิดความเชื่อที่มาจากการรับรู้ข้อมูลที่เป็นจริงและเพียงพอสามารถทำให้คนเราตัดสินใจด้วยตนเองได้
หลักสูตร Internship
ข้อดี
การปฏิบัติงานได้รับการยอมรับและคุ้มครองทางกฎหมาย
มีมาตรฐานวิชาชีพรองรับ
มีจรรยาบรรณกำกับ
ได้รับการยอมรับทางสากล
มีโอกาสเรียนต่อที่สูงขึ้นหรือในระดับนานาชาติ
ผลงานวิจัยสามารถเข้าสู่ระดับนานาชาติ
มีสถานะด้านวิชาชีพ
ข้อเสีย
ต้องเพิ่มความลำบากในเรื่อง
การเรียนเพิ่ม
ฝึกงานเพิ่ม
ค่าใช้จ่ายเพิ่ม
ลางานเพื่อเข้าสู่ระบบ
ไม่ได้รับการอนุญาตให้ลามาอบรม
ข้อมูลข้างบนคงช่วยการตัดสินใจได้ว่าคุ้มค่าหรือไม่ในการเข้ามาสู่การฝึกอบรม
โปรแกรม Internship คืออะไร
คือการฝึกอบรมที่จะทำให้เรารู้ว่า
เรามีต้นทุนความรู้ความสามารถจริงด้านนี้เท่าไหร่
ได้เรียนรู้การทำงานร่วมกับวิชาชีพอื่นๆ
เตือนตัวเองไม่ปฏิบัติผิดๆหรือทำงานอย่างไม่ระมัดระวังผลที่ตามมา ซึ่งอาจจะมีปัญหาทางกฎหมายด้วย
เพิ่มเติมความรู้ตามวิชาชีพและวิชาที่เกี่ยวข้อง
มีโอกาสทำความรู้จัก สร้างเครือข่าย พัฒนาวิชาชีพร่วมกับคนในและนอกองค์กร
เป็นที่รู้จักในวงกว้างขึ้น
ตัวอย่างโปรแกรมการอบรม Internship ในอเมริกา
ใช้เวลาเต็มวัน(40ชม/สัปดาห์) ตลอด 1 ปีปฏิทิน
ทำงานทางคลินิกโดยตรงกับผู้ป่วยจิตเวช
การปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การดูแลให้คำปรึกษาจากอาจารย์ที่ปรึกษาอย่างเข้มข้น
ทำสัมมนาวิชาการด้านจิตวิทยาคลินิก
ระยะเวลาหมุนเวียนปฏิบัติงาน
สาขาหลักๆ
แผนกผู้ป่วยนอกผู้ใหญ่ 6 เดือน
แผนกผู้ป่วยในผู้ใหญ่ 4 เดือน
แผนกจิตเวชฉุกเฉิน 1 เดือน
แผนกรับปรึกษาผู้ป่วยติดยา 1 เดือน
วิชาเลือก
ต้องนำcaseเข้ารับการคำปรึกษาจากอาจารย์อย่างน้อย 5 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
ทำสัมมนาวิชาการอย่างน้อย 4 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
คำถาม?
การฝึกอบรม Internship เอามารวมกับหลักสูตรปริญญาตรีได้หรือไม่ถ้าเพิ่มหลักสูตร 4 ปี ออกไปอีก 6 เดือน จะได้สอบรับใบประกอบโรคศิลปะได้เร็วขึ้น
คำตอบ
คำตอบจะอยู่หลังจากอ่านข้อมูลที่จะกล่าวต่อไปนี้
1. หลักสูตรการศึกษาอุดมศึกษาอยู่ภายใต้การรับรองของสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา กระทรวงศึกษาธิการ แต่หลักสูตรการฝึกปฏิบัติวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกอยู่ในกำกับของสาขาวิชาชีพจิตวิทยาคลินิก และสำนักสถานพยาบาลและกองประกอบโรคศิลปะ กระทรวงสาธารณสุข สิ่งที่ต้องทำคือการปรับหลักสูตรการศึกษา และแก้กฎหมายวิชาชีพ ทั้งสองเรื่องนี้เป็นงานระดับชาติไม่ใช่จะมาทำตามความสะดวก หรือตามต้องการได้เลย สิ่งสำคัญคือผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายต้องเห็นชอบร่วมกันจึงจะทำได้
2. การจะสอบรับใบประกอบโรคศิลปะต้องผ่านการปฏิบัติงานในหลักสูตรInternshipตามมาตรฐานวิชาชีพให้ครบก่อน ซึ่งสถาบันที่รองรับการฝึกได้ต้องได้รับการรับรองจากคณะกรรมการวิชาชีพว่ามีคุณสมบัติครบที่สามารถเปิดให้เป็นสถานที่รับฝึกอบรมได้ นั่นหมายความว่าต้องมีบุคลากรที่มี ใบประกอบวิชาชีพในสัดส่วนที่เหมาะสมกับผู้เข้ารับการฝึก มีผู้ป่วยจิตเวช สถานที่ที่มีบริการทางคลินิกให้ผู้เข้ารับการอบรมลงไปปฏิบัติงาน ฯลฯ คำถามก็คือในปัจจุบันสถาบันการศึกษาที่เปิดสอนจิตวิทยาคลินิกมีกี่แห่งที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์นี้ คำตอบมันก็อยู่ในตัวเองอยู่แล้ว เพราะแม้แต่การฝึกงานในหลักสูตรปกติยังทำด้วยตัวเองไม่ได้ ต้องหาสถานที่รองรับอย่างเหนื่อยยากเนื่องจากทุกแห่งที่รับได้ก็มีภาระงานของตัวเองมากมายอยู่แล้ว ฉะนั้นในหลักสูตรปกติถ้าเอาช่วง Internship เข้ามารวมอีกอะไรจะเกิดขึ้นคงไม่ต้องบรรยาย
ผลกระทบจากการประกอบวิชาชีพอย่างผิดๆหรือไม่รับผิดชอบ
แผลใจของผู้รับบริการและผู้เกี่ยวข้องเช่นบอกการวินิจฉัยโดยไม่ระวังคำพูด
อาจจะทำร้ายสังคมได้เช่นบอกว่าผู้ป่วยปกติทั้งๆที่ป่วย
ตัดสินชะตาชีวิตคน เช่นบอกว่าป่วยทั้งๆที่ไม่ป่วยหรือบอกว่าเป็นปัญญาอ่อนทั้งๆที่ไม่ใช่ ทำให้ขาดโอกาสในสิ่งที่ควรได้
ก่อปัญหาครอบครัวตามมา การให้ข้อมูลอย่างไม่รอบคอบหรือไม่ระวังทำให้เกิดความขัดแย้งในสมาชิกครอบครัว และการไม่ยอมรับผู้ป่วย ปัญหาจะเรื้อรังไม่จบ
วิชาชีพถูกดูถูกเหยียดหยาม ไม่ยอมรับในความเป็นวิชาการซึ่งมีผลทั้งในแง่ตำแหน่งงานที่ควรเป็นควรได้และและการยอมรับทางสังคม
นักจิตวิทยาไม่ได้รับความเชื่อถือและอาจมีปัญหาทางกฎหมายอาญาหรือแพ่งตามมา
บทสรุป
ข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดได้นำเสนอหลักสูตร Internship ว่ามีข้อดีข้อเสียหรือเหตุผลที่มาที่ไปอย่างไร ต่อไปคือวิจารณญาณของคนที่คิดว่าตัวเองเป็นนักจิตวิทยาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่กับบทความนี้ ซึ่งเป็นไปโดยอิสระ และไม่มีรางวัลหรือบทลงโทษให้เพราะวิชาชีพนี้เป็นของพวกเราการจะพัฒนาขึ้นหรือทำให้เสื่อมลงก็เป็นความรับผิดชอบของพวกเราเอง นักจิตวิทยาที่ฉลาดไม่หลงเชื่อ คิดหรือทำอะไรแบบมักง่าย สมควรที่จะได้รับใบประกอบโรคศิลปะ โดยสรุปหลักสูตร Internship ต้องการ
· เวลาที่เหมาะสม เพียงพอที่จะให้นักจิตวิทยามีประสบการณ์การทำงานด้านจิตเวชและรู้จักตัวตนของความเป็นนักจิตวิทยาที่แท้จริง
· การเรียนรู้เพิ่มเติม และการปรับความรู้ให้ทันสมัย
· ความรู้ด้านจิตวิทยาคลินิกจริงๆไม่ใช่แค่ความรู้พื้นฐานทั่วๆไป
ผลการฝึกอบรม
ต้องการให้นักจิตวิทยามี Good clinical practice วุฒิภาวะและรักษาจรรยาบรรณ