- รายละเอียด
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 3579
การก่อตั้งคลินิกสุขวิทยาจิต-การพัฒนาเป็นศูนย์สุขวิทยาจิต และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
* ชี้แจงบทความ
บทความนี้เป็นประวัติการก่อตั้งสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ตามข้อความต้นฉบับ ที่นี่ ซึ่งสถาบันแห่งนี้ในอดีตคือคลินิกสุขวิทยาจิต เป็นหน่วยงานแรกๆ ของประเทศไทยที่ดำเนินงานด้านสุขภาพจิต และที่นี่ก็ยังเป็นจุดเริ่มต้นของการก่อตั้งวิชาชีพทางสุขภาพจิตหลากหลายวิชาชีพ รวมถึงเป็นจุดเริ่มต้นของวิชาชีพนักจิตวิทยาคลินิกด้วย ดังนั้นบทความนี้จะทำให้ผู้อ่านได้เห็นถึงประวัติศาสตร์การพัฒนางานสุขภาพจิตของประเทศไทยได้เป็นอย่างดี ผ่านช่วงเวลาต่างๆของหน่วยงาน บทความนี้มีการแก้ไขคำผิดและอัพเดทข้อมูลบางอย่างเล็กน้อยเพิ่มเติมจากต้นฉบับ(ส่วนที่ได้รับการแก้ไขจะมีแถบสีเหลืองคาดข้อความ) เพื่อให้ได้รับข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง หวังว่าผู้อ่านจะได้รับความรู้ต่างๆผ่านบทความนี้
โดย Webmaster 26/08/2557
การก่อตั้งคลินิกสุขวิทยาจิต-การพัฒนาเป็นศูนย์สุขวิทยาจิต และสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์
ก่อนหน้าจะเป็นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ย้อนหลังไป 58 ปี ได้มีการก่อตั้งคลินิก สุขวิทยาจิต เมื่อ พ.ศ. 2496 มีสถานที่ตั้งอยู่ที่ตึกสุขวิทยาจิตใน โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา คลินิกสุขวิทยาจิต เกิดขึ้นจากการร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก โดยศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ในฐานะ ผู้ริเริ่มงานสุขภาพจิตในประเทศไทย มีแนวคิดว่าการบำบัดรักษาผู้ป่วยที่เป็นโรคจิตแล้ว ค่อนข้างจะสิ้นเปลืองงบประมาณมาก และเป็นการช่วยเหลือที่สายเกินไป แต่การป้องกัน ก่อนที่จะเกิดปัญหา และการช่วยเหลือแก้ไขปัญหาเสียแต่ในระยะเริ่มแรกจะได้ผลดีกว่า ในส่วนขององค์การอนามัยโลกได้ส่งผู้เชี่ยวชาญคือ Dr.Magaret Stepan ซึ่งเป็นนักจิตวิทยา คลินิกชาวเวียนนาให้มาเป็นที่ปรึกษาในการก่อตั้งและการดำเนินงานของคลินิกสุขวิทยาจิต ในระยะ 2 ปีแรก รวมทั้งการจัดหลักสูตรสอนและฝึกอบรมด้านจิตเวชศาสตร์ขึ้นที่โรงพยาบาล สมเด็จเจ้าพระยา ซึ่งไม่เคยมีการฝึกอบรมด้านนี้มาก่อนในประเทศไทย
งานด้านบริการของคลินิกสุขวิทยาจิต
ภายหลังการก่อตั้งตึกสุขวิทยาจิตขึ้นในบริเวณโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา (ปัจจุบันคือ ตึกวิชาการจิตเวช) เสร็จเรียบร้อยแล้ว คลินิกสุขวิทยาจิตได้เปิดให้บริการเด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี ที่มีปัญหาพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์ เช่น เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว เด็กหนีโรงเรียน เด็กถูกทิ้ง และเด็กปัสสาวะรดที่นอน เป็นต้น
เนื่องจากในขณะนั้นความเข้าใจของประชาชนทั่วไปเกี่ยวกับเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์ เกือบจะไม่มีเลย ส่วนใหญ่จะรู้จักเด็ก ที่มีปัญหาในลักษณะที่เห็นได้ชัดเจน และมีความลำบากในการดูแล เช่นเด็กปัญญาอ่อนช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมซึ่งมีสาเหตุจาก ความพิการทางสมอง และเด็กที่เป็นโรคลมชัก เป็นต้น สถิติผู้ป่วยเด็กซึ่งมารับบริการแก้ไขปัญหาที่คลินิกสุขวิทยาจิตจึงเป็นเด็กที่มีปัญหาดังกล่าว เสียเป็นส่วนใหญ่
การริเริ่มการให้บริการโดยทีมจิตเวช (Psychiatric Team)
วิธีการแก้ไขช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและปัญหาทางอารมณ์เน้นในการศึกษาที่มาหรือสาเหตุความเป็นมาของปัญหาโดยละเอียด เพื่อให้การแก้ไขได้อย่างถูกต้อง จึงได้มีการริเริ่มการปฎิบัติงานเป็นทีมซึ่งประกอบด้วย
- จิตแพทย์ ทำหน้าที่ตรวจวินิจฉัย และให้การบำบัดรักษา
- นักสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช ทำหน้าที่ศึกษาประวัติความเป็นมาของปัญหาจากพ่อแม่ผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ขณะเดียวกันก็ให้คำแนะนำแก่พ่อแม่ เกี่ยวกับพัฒนาการเด็ก และการอบรมเลี้ยงดูที่เหมาะสมเพื่อมิให้กลายเป็นปัญหาที่รุนแรง และป้องกันการลุกลามอื่น ๆ กลายเป็นปัญหาต่อไป
- นักจิตวิทยาคลินิก ศึกษาเด็กโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยา และการสังเกตุพฤติกรรม เพื่อเข้าใจกลไกที่มาของปัญหา (Dynamic formulation) ลักษณะบุคลิกภาพ ข้อบกพร่อง วิธีการปรับตัว รวมทั้งศักยภาพความสามารถด้านเชาว์ปัญญา และข้อมูลที่เป็นประโยชน์ ในการแก้ไขปัญหา
ภายหลังการดำเนินงานของบุคลากรในทีมจิตเวชได้มีการประชุมร่วมกัน (Clinical Conference) เพื่อสรุปผลการวินิจฉัยโรค และแนวทางช่วยเหลือ แก้ไข ปัญหาเด็กต่อไป ในระยะ 2-3 ปีแรกที่เริ่มมีClinical Conference ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน ได้เข้ามาร่วมในการประชุม เพื่อให้คำแนะนำและข้อคิดเห็น ที่เป็นประโยชน์ นอกจากนี้ยังได้เชิญ ผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศซึ่ง ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน รู้จักคุ้นเคย เช่น ศาสตราจารย์ด๊อกเตอร์ ซุง ยี ลิน และ Professor W. Line มาเข้ามาร่วมในการประชุมด้วย ทำให้บรรยากาศในการประชุมมีลักษณะเป็น Teaching conference และผู้เข้าร่วมประชุมทุกคนได้ความรู้ ที่เป็นประโยชน์ในการปฎิบัติงาน
Clinical Staff
ในระยะแรกที่ก่อตั้งคลินิกสุขวิทยาจิต มีผู้ปฏิบัติงานเพียง 3 ท่านคือ
- แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ทำหน้าที่จิตแพทย์เด็ก หัวหน้าทีมในขณะที่ยังไม่มีผู้ได้รับการฝึกอบรมมาโดยตรงในด้าน จิตวิทยาและสังคมสงเคราะห์
- นายแพทย์ประสิทธิ หะรินสุดา ทำหน้าที่นักจิตวิทยาคลินิกร่วมกับ Dr. Stepan
- นางสาวสุภวัลภ์ หินแก้ว ซึ่งจบมาทางด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ทำหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ ต่อมา นายแพทย์ประสิทธิ หะรินสุดา ได้ทุน WHO ไปศึกษาต่อด้านจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัย Toronto ประเทศ Canada และ นางสาวสุภวัลภ์ พินแก้ว ได้ทุน Colombo Plan ไปศึกษาต่อด้านสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวชที่ประเทศออสเตรเลีย
ใน พ.ศ. 2498 คลินิกสุขวิทยาจิต ได้รับเจ้าหน้าที่เพิ่มอีก 1 คน ซึ่งมีคุณวุฒิอักษรศาสตร์บัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อให้ปฎิบัติงานตำแหน่งเลขานุการ คลินิกสุขวิทยาจิต และเป็นเลขานุการของ Dr. Stepan ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลกด้วย
ในการนี้ นางสาวสมทรง บุญนาค (ปัจจุบันนางสมทรง สุวรรณเลิศ) ได้รับการบรรจุให้เข้ารับราชการ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2498 ขณะที่ น.พ.ประสิทธิ หะรินสุดา อยู่ในระหว่างศึกษาต่อต่างประเทศ นางสมทรง สุวรรณเลิศจึงได้ปฎิบัติงานในฐานะนักจิตวิทยาภายใต้การแนะนำดูแลของ Dr. Stepan อีกด้วย ขณะเดียวกัน เมื่อมีการเปิดการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้านทางจิตเวชรุ่นแรกที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา ก็ได้มีโอกาสเข้ารับฟังการสอน และบรรยายโดยตลอด เมื่อปฎิบัติงานอยู่ได้ 4 ปี ก็ได้รับทุน Colombo Plan ให้ไปศึกษาต่อด้าน Child Study และจิตวิทยาคลินิกที่มหาวิทยาลัย Toronto ประเทศ Canada เมื่อพ.ศ. 2504-2506 โดยได้รับการฝึกอบรมทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ (Internship) เพื่อให้กลับมาปฎิบัติงานเป็น นักจิตวิทยาคลินิกได้ และสามารถสอน ฝึกอบรม เพื่อการผลิตบุคลากรวิชาชีพจิตวิทยาคลินิก สำหรับหน่วยงาน จิตเวชและสุขภาพจิตต่อไป
งานด้านการเผยแพร่ความรู้
เป็นการดำเนินงานที่คู่ขนานไปกับงานบริการโดยการเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิตสู่ประชาชนทั่วไป และองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการดูแลเด็กรวมทั้งการให้ความรู้เกี่ยวกับพัฒนาการเด็กและการดูแลเลี้ยงดูเด็กที่เหมาะสม เพื่อป้องกันมิให้เด็กมีปัญหาจนสายเกินกว่าจะแก้ไขได้
เจ้าหน้าที่ทุกคนของคลินิกสุขวิทยาจิตในขณะนั้นต่างร่วมมือกันในการเผยแพร่ความรู้โดยการเขียนบทความออกอากาศทางวิทยุกระจายเสียงเกี่ยวกับการให้บริการของ คลินิกสุขวิทยาจิต และปัญหาของเด็กที่ควรมารับการแก้ไข รวมทั้งความรู้ด้านจิตวิทยาเด็ก พัฒนาการของเด็กวัยต่างๆและปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละวัย และแนวทางการป้องกันมิให้เกิดเป็นปัญหา
การเผยแพร่ความรู้อีกวิธีหนึ่งคือ การเป็นวิทยากร ไปบรรยายตามสถาบันต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการกับการดูแลเด็กโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่โรงเรียน แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา มีบทบาทค่อนข้างมากในเรื่องนี้ จนทำให้คลินิกสุขวิทยาจิตได้เป็นที่รู้จักและยอมรับกันอย่างกว้างขวาง ผลที่ตามมาคือเด็กที่มีปัญหาพฤติกรรมและปัญหาทางอารมณ์ได้รับการแนะนำ หรือส่งมารับบริการ ที่คลินิกสุขวิทยาจิตเพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ก็มีการเผยแพร่ความรู้อีกวิธีหนึ่งคือการจัดพิมพ์เอกสารแจกแก่ผู้มารับบริการและประชาชนทั่วไป โดยจัดทำในลักษณะของแผ่นพับ มีเนื้อหาข้อความที่เข้าใจได้ง่าย และเป็นเรื่องที่ควรรู้เกี่ยวกับปัญหาต่างๆ ของเด็ก และวิธีการป้องกัน แก้ไข เช่น เรื่องเด็กหนีโรงเรียน เด็กพูดปด เด็กปัสสาวะรดที่นอน เด็กดูดนิ้ว เด็กลักขโมย เด็กก้าวร้าว และพ่อแม่กับการเลี้ยงดูเด็กเป็นต้น
ระหว่าง พ.ศ. 2506-2507
หลัง Dr. Stepan หมดวาระการปฎิบัติงานที่คลินิกสุขวิทยาจิต องค์การอนามัยโลกได้ส่ง Dr.Alan Stollen ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตเวชเด็ก จากประเทศ ออสเตรเลีย มาเป็นที่ปรึกษา ให้คลินิกสุขวิทยาจิต เนื่องจากขณะนั้นมีจิตแพทย์เด็กปฎิบัติงานอยู่เพี่ยงคนเดียวคือ แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ต่อมาจึงได้มีจิตแพทย์เด็กซึ่งจบการฝึกอบรม ทางด้านจิตเวชเด็กจากสหรัฐอเมริกามาปฎิบัติงานที่คลินิกสุขวิทยาจิตเพิ่มขึ้นอีกหลายคน เช่น แพทย์หญิงศรีธรรม ธนภูมิ แพทย์หญิงวาสนา ศรมณี และแพทย์หญิงอัมพร โอตระกูล เป็นต้น ซึ่งในระยะหลังก็ได้ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัย แพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี โรงพยาบาลจุฬาฯ และคณะสาธารณสุขศาสตร์ ตามลำดับ
การขยายงานด้านบริการเข้าสู่ชุมชน
ในช่วงที่คลินิกเริ่มให้บริการแก้ไขปัญหาประชาชนบางส่วนยังมีอคติที่จะพาเด็กมารับ บริการที่คลินิกสุขวิทยาจิตโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพราะมีความเห็นว่า เด็กไม่ได้เป็นโรคจิต ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน จึงได้มอบนโยบายให้มีการขยายงานด้านบริการของคลินิกสุขวิทยาจิตให้เข้าถึง ชุมชนเพื่อให้ไปรับบริการได้สะดวกขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการอย่างทั่วถึง ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน ได้กล่าวถึงการขยายงานด้านนี้ว่าเป็น
“ คลินิกสี่มุมเมือง “ ซึ่งได้แก่
- คลินิกสุขวิทยาจิตที่อาคารราชดำเนินติดกับอาคารศึกษาภัณฑ์ ซึ่งเป็นองค์การค้าของคุรุสภา มีแพทย์หญิงฉวี สิงหวิสัย เป็นจิตแพทย์เด็ก หัวหน้าทีม หม่อมหลวง วารุม ลดาวัลภ์ ทำหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์ และนางสาวอุ่นเรือน อำไพพัสตร์ ทำหน้าที่นักจิตวิทยาคลินิก
- บริการคลินิกสุขวิทยาจิตที่แผนกกุมารโรงพยาบาลราชวิถีมี แพทย์หญิงพะยอม อิงคณานุวัฒน์ เป็นจิตแพทย์หัวหน้าทีม นางสาวลัดดา อะยะวงศ์ทำหน้าที่นักจิตวิทยา และนางสาวจันทิรา ทำหน้าที่นักสังคมสงเคราะห์
- บริการคลินิกสุขวิทยาจิตที่สถานสงเคราะห์แม่และเด็กสาธร มีแพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ทำหน้าที่หัวหน้าทีม มีนักสังคม สงเคราะห์และ นักจิตวิทยาคลินิกผลัดเปลี่ยนเวรกันไปให้บริการสัปดาห์ละครั้ง นอกจากให้บริการแล้วยังได้มีการทำ Clinical Conference เพื่อให้ความรู้ แก่เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานนั้นอีกด้วย
การให้บริการของคลินิกสุขวิทยาจิตทั้ง 4 แห่ง ดังกล่าวแล้ว ได้ดำเนินการอยู่ระยะหนึ่งในช่วง พ.ศ. 2506-2511 จนเป็นที่รู้จักของประชาชน ทั่วไป แต่เริ่มมีปัญหา จำนวนเจ้าหน้าที่ ไม่เพียงพอ และบางแห่งก็ไม่สะดวกในเรื่องสถานที่ เช่นที่อาคารราชดำเนินเพราะมีความต้องการสถานที่คืน แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา จึงมีนโยบาย ให้รวมหน่วยงานต่างๆ เข้าด้วยกันเป็นหน่วยเดียวคือที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา เพื่อความเข้มแข็งในการปฎิบัติงาน ขณะเดียวกันก็ยังคงมีวัตถุประสงค์เดิม คือต้องการที่จะให้ผู้มารับบริการมีความสะดวกในการเดินทาง มารับบริการ และไม่มีอคติในการมาที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ในฐานะผู้อำนวยการคลินิกสุขวิทยาจิต จึงได้ พยายามที่จะหาสถานที่ใหม่เพื่อให้บรรลุ วัตถุประสงค์ดังกล่าวมาแล้ว ขณะเดียวกันก็ดำเนินการยกระดับคลินิกสุขวิทยาจิตซึ่งเดิมเป็นหน่วยงานในสังกัด โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาให้ขึ้นตรงกับกองโรงพยาบาลโรคจิตในขณะนั้น และเปลี่ยนชื่อจากคลินิกสุขวิทยาจิตมาเป็น “ ศูนย์สุขวิทยาจิต” (Clinical Mental Health Center) นโยบายนี้ได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน ประกอบกับองค์การ เภสัชกรรม ก็ได้เอื้อเฟื้อแบ่งที่ดิน ให้ก่อสร้างอาคารบริเวณถนนพระรามที่ 6 ติดกับถนนโยธี ตรงข้ามโรงพยาบาลรามาธิบดี ซึ่งเป็นจุดที่สะดวกในการเดินทาง และเป็นที่รู้จักของประชาชน ทั่วไป เมื่อได้รับงบประมาณที่เหมาะสมจึงได้ดำเนินการก่อสร้างอาคารจนแล้วเสร็จ เมื่อ พ.ศ. 2512
การย้ายศูนย์สุขวิทยาจิตมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบัน
ศูนย์สุขวิทยาจิตได้ย้ายมาอยู่ที่ตั้งปัจจุบันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม พ.ศ.2512 ศูนย์เป็นตึกอาคาร 4 ชั้น รวมดาดฟ้าเป็นชั้นที่5 มีสถานที่กว้างขวาง พอสมควร สำหรับเจ้าหน้าที่ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้น และได้ใช้บริเวณอาคารชั้นที่1 ให้บริการรับปรึกษาแก้ไขเด็กที่มีปัญหาตั้งแต่แรกเกิด- อายุ 12 ปี ต่อมาจึงได้ ขยายการให้บริการสำหรับเด็กวัยรุ่นด้วย เนื่องจากมีความต้องการจากเด็กกลุ่มหลังนี้เพิ่มขึ้น
งานด้านการสอนและฝึกอบรม
นอกเหนือจากงานด้านบริการ งานเผยแพร่ความรู้ก็ได้มีงานด้านการสอนและฝึกอบรมซึ่งเป็นงานที่สืบเนื่องจากที่ดำเนินการไว้แล้วเมื่อยังเป็น คลินิกสุขวิทยาจิต แต่มีความชัดเจนและ เข้มแข็งยิ่งขึ้นเมื่อศูนย์สุขวิทยาจิตย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน
การสอนฝึกอบรมทางจิตเวชเด็ก
ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้วได้วางแผนไว้ตั้งแต่แรกแล้วว่าศูนย์สุขวิทยาจิตจะเป็นที่ให้การสอนฝึกอบรมทางจิตเวช แก่แพทย์ ประจำบ้านทางจิตเวชที่จะต้องมาปฏิบัติงาน ที่ศูนย์สุขวิทยาจิต เป็นเวลาไม่ต่ำกว่า 6 เดือนและเป็นที่แห่งแรกซึ่งให้การฝึกอบรมด้านนี้ในประเทศไทย แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา เป็นผู้บุกเบิกและทุ่มเทในงานด้านนี้อย่างมาก ทั้งในด้านการสอนและการดูแลให้คำปรึกษาในการทำ case study
การสอนฝึกอบรมด้านสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช
ศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แพทย์หญิงคุณหญิงสุภาและนางสาวสุภวัลภ์ พินแก้ว ซึ่งได้รับการฝึกอบรมด้านสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช จาก ประเทศออสเตรเลีย เป็นผู้มีบทบาทสำคัญ ในการกระตุ้นให้คณะสังคมสงเคราะห์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเดิมมีหลักสูตรการเรียนการสอน ด้าน สังคมสงเคราะห์ทั่วไป ให้สนใจเรื่องสังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช และได้มีการฝึกอบรมด้านนี้ขึ้น ในคณะสังคมสงเคราะห์ ซึ่งต่อมาก็ได้ผลิตบุคลากรวิชาชีพ สังคมสงเคราะห์ทางจิตเวช เพื่อให้ปฏิบัติงานในหน่วยงานจิตเวชและสุขภาพจิต หลังได้รับการเรียนการสอนภาคทฤษฎีและมาฝึกปฏิบัติ งานที่ศูนย์สุขวิทยาจิต
การสอนฝึกอบรมด้านจิตวิทยาคลินิก Inservice-Training
ในประเทศไทยยังไม่มีการสอนฝึกอบรมด้านจิตวิทยาคลินิกในสถาบันการศึกษาต่างๆมาก่อนเลย เมื่อนางสมทรง สุวรรณเลิศ ซึ่งได้รับการฝึกอบรม ในด้านนี้จากมหาวิทยาลัย Toronto, Canada ระหว่างพ.ศ.2504-2506 และกลับมาปฏิบัติงานที่ศูนย์สุขวิทยาจิตก็ได้ริเริ่มการสอนฝึกอบรมInservice-Training ให้แก่ผู้ได้รับการบรรจุเข้าทำงานในตำแหน่งนักจิตวิทยาคลินิก ของหน่วยงานสังกัดกองโรงพยาบาลโรคจิต ซึ่งบุคคลเหล่านี้ส่วนใหญ่มีความรู้ พื้นฐานทางจิตวิทยาทั่วไปและจิตวิทยาเด็กอยู่บ้าง โดยจบการศึกษาวุฒิ ค.บ.และกศบ. การสอนฝึกอบรม Inservice-Training จัดเป็นหลักสูตร 6เดือน โดยมีการสอนภาคทฤษฎีในวิชาต่างๆ ที่จำเป็นและควรรู้เพื่อให้สามารถปฏิบัติงานกับผู้ป่วยจิตเวชและผู้มีปัญหาสุขภาพจิต ได้โดยเป็นการสอนบรรยาย ในภาคบ่ายตลอดระยะ เวลา 6 เดือน ส่วนในภาคเช้าผู้เข้ารับการฝึกอบรมทุกคนจะต้องฝึกปฏิบัติงานกับผู้ป่วยโดยใช้แบบทดสอบทางจิตวิทยาชนิดต่างๆ และมีการทำ Clinical Psychology Conference สัปดาห์ละครั้ง เป็นการตรวจสอบและให้คำแนะนำที่เหมาะสมในการปฏิบัติงาน สำหรับการสอนฝึกอบรม Inservice Trainingได้จัดขึ้นที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา 3 รุ่น มีนักจิตวิทยาคลินิกที่ได้รับการอบรม และกลับไปปฎิบัติงานในหน่วยงานจิตเวชและ สุขภาพจิตประมาณ 20-25 คน
การสอบฝึกอบรมในหลักสูตรจิตวิทยาวิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เมื่อมีการประชุมสัมนาเกี่ยวกับการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนขึ้นที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. 2506 โดยศจ.มล.ตุ้ย ชุมสาย ได้เชิญหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องหรือต้องการบุคลากรที่จบปริญญาตรีด้านจิตวิทยาบรรจุเข้าทำงาน ศจ.นพ. ฝน และนางสมทรง สุวรรณเลิศ จึงได้เข้าร่วมในการประชุมได้เสนอแนะการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนสาขาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยาคลินิก เพื่อให้มีบุคลากรที่จบปริญญาตรีในสาขานี้ สามารถเข้าปฎิบัติงานในหน่วยงานจิตเวช และสุขภาพจิตได้ ซึ่งความต้องการบุคลากรเหล่านี้มีมากขึ้น เนื่องจากมีการปฎิบัติงานเป็นทีมจิตเวชในเกือบทุกหน่วยงาน
ในพ.ศ. 2507 จึงได้มีการเปิดการเรียนการสอนในสาขาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยาคลินิกขึ้นเป็นครั้งแรกที่คณะมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัย เชียงใหม่ ต่อมาก็ได้มีการ เปิดการเรียนการสอนสาขานี้ขึ้นในสถาบันการศึกษาต่างๆ ได้แก่ คณะศิลปศาสตร์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยนเรศวรพิษณุโลก วิทยาลัยเซนต์หลุยส์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (อยู่ระหว่างเตรียมการเปิดสอน) และการเรียนการสอน ในระดับปริญญาโทที่คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และมหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรการเรียนการสอนสาขาจิตวิทยา วิชาเอกจิตวิทยา คลินิกในปัจจุบันมีมาตรฐานกลาง ซึ่งจัดทำโดย คณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิก ซึ่งสถาบันการศึกษาต่างๆ จะต้องปฎิบัติตามเกณฑ์ ที่กำหนดไว้ ซึ่งจะสามารถเปิดการเรียนการสอนในหลักสูตรนี้ได้ ตลอดเวลาที่มีการเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนดังกล่าวมาแล้ว นางสมทรง สุวรรณเลิศ ได้มีส่วนอย่างมากในการให้คำแนะนำการจัดทำหลักสูตร และเป็นอาจารย์พิเศษ ในการสอนทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฎิบัติ โดยเฉพาะในระยะเวลาแรก เริ่มจาก พ.ศ.2507-2535 และในปัจจุบันยังมีส่วนในการดูแลด้านพัฒนาวิชาการในฐานะประธาน คณะกรรมการวิชาชีพสาขาจิตวิทยาคลินิกอีกด้วย
อาจกล่าวได้ว่าจิตวิทยาคลินิกเกิดขึ้นที่ศุนย์สุขวิทยาจิตเป็นครั้งแรก และมีการพัฒนาที่ดีขึ้นตามลำดับมีมาตรฐานที่เป็นสากลทัดเทียมกับของต่างประเทศ ในขณะนี้นักจิตวิทยาคลินิกเป็นวิชาชีพที่ต้องมีการสอบเพื่อขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเพื่อให้ประกอบโรคศิลปะ ตามพระราชบัญญญัติ การประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2556 (ฉบับที่4) ซึ่งในขณะนี้มีนักจิตวิทยาคลินิกที่ได้สอบขึ้นทะเบียนแล้วประมาณ 600 คน
ในช่วง พ.ศ.2512 เป็นต้นมา ศูนย์สุขวิทยาจิตมีอัตรากำลังนักจิตวิทยาคลินิกเพิ่มขึ้นตามลำดับ นักจิตวิทยาคลินิกทุกคน มีส่วนรับผิดชอบในการสอนภาคทฤษฎีในสถาบัน การศึกษาต่างๆ และให้การควบคุมดูแลนิสิตนักศึกษาที่มาฝึกปฎิบัติงานที่ศูนย์สุขวิทยาจิตด้วย
งานสุขภาพจิตโรงเรียน
เป็นงานเผยแพร่ความรู้ด้านสุขภาพจิต จิตวิทยาด้านพัฒนาการเด็ก การอบรมเลี้ยงดูที่ เหมาะสม และการป้องกันมิให้เด็กกลายเป็นปัญหา ซึ่งเป็นงานที่ทำต่อเนื่องจากที่เคยทำมาแล้วที่คลินิกสุขภาพจิต รพ.สมเด็จเจ้าพระยา แต่เมื่อย้ายที่ทำการมาที่ศูนย์สุขวิทยาจิต งานเผยแพร่ความรู้ก็ได้ ทำเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการให้ความรู้แก่ผู้เกี่ยวข้องกับเด็กรองจากพ่อแม่ ก็คือ ครู ผู้ดูแลเด็ก งานสุขภาพจิต โรงเรียนจึงได้เกิดขึ้นโดย พญ.คุณหญิงสุภา มีบทบาทสำคัญในการริเริ่มจัดโครงการฝึกอบรมครูในเขตการศึกษาต่างๆ ทั่วประเทศ โดยจัดทีมจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์และ นักจิตวิทยาคลินิกไปเป็นวิทยากร บรรยาย ซึ่งในระยะต่อมานายณรงค์ศักดิ์ ตะละภัฎ นักจิตวิทยาคลินิกของศูนย์สุขวิทยาจิต ได้เป็นผู้สืบทอดโครงการ สุขภาพจิตในโรงเรียนต่อจากพญ.คุณหญิงสุภา เนื่องจากมีภารกิจอื่นที่ต้องดำเนินการ จำนวนมาก
งานที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพจิตโรงเรียนอีกอย่างหนึ่งคือ การอบรมครูแนะแนว โดยการ ร่วมมือกับสมาคมนักแนะแนวแห่งประเทศไทย ซึ่งทาง แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา ก็ได้มีบทบาทสำคัญ ในการเป็นวิทยากรบรรยาย ซึ่งทำให้ครูแนะแนวเข้าใจเรื่องสุขภาพจิตและการคัดกรอง ช่วยเหลือเด็กที่มี ปัญหาในโรงเรียนเพิ่มมากขึ้น นอกจากโครงการฝึกอบรมแล้ว ทีมจิตเวชของศูนย์สุขวิทยาจิต ยังได้ไปให้บริการแก้ไขเด็กที่มีปัญหาที่โรงเรียนสาธิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และโรงเรียนมักกะสัน เป็นการไปให้บริการถึงที่แทนการเดินทางมารับบริการที่ศูนย์สุขภาพจิต และครูในโรงเรียนเหล่านั้น ก็ได้ความรู้ในการสังเกตเด็กที่เป็นปัญหา และให้การช่วยเหลือในระยะเริ่มแรกได้ก่อนส่งมารับบริการจากทีมของศูนย์สุขวิทยาจิตในกรณีที่เป็นปัญหารุนแรง
งานโรงพยาบาลกลางวัน (Day Care)
เดิมมีการให้บริการด้านนี้มาก่อนที่คลินิกสุขวิทยาจิตรพ.สมเด็จเจ้าพระยา มีพญ.วาสนา ศรมณี เป็นผู้ดูแล ต่อมาศูนย์สุขวิทยาจิตเปิดให้บริการที่ชั้น 2 ของอาคาร วัตถุประสงค์ในการมี Day Care ก็เพื่อดูแลรักษา เด็กที่มีปัญหาค่อนข้างรุนแรง แต่ทางครอบครัวยังพอดูแลเด็กได้ที่บ้าน เช่น เด็กที่ไม่ยอมไป โรงเรียน เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ทำลายของและเด็กอยู่ไม่สุข เป็นต้น ซึ่งในบางรายต้องการการรักษาทางยา ร่วมด้วย ต่อมาก็มีการรับเด็กออทิสติกและ มีการอบรมพ่อแม่ให้ดูแลเด็กที่บ้านได้อย่างเหมาะสม Day Care สำหรับเด็กที่มีปัญหานี้ ยังเป็นที่สำหรับการฝึกอบรมแพทย์ประจำบ้าน ทางจิตเวชที่มารับ การฝึกอบรม ทางจิตเวชเด็กที่ศูนย์สุขวิทยาจิตอีกด้วย
Day Care สำหรับเด็กปกติก่อนวัยเรียน อยู่ที่บริเวณชั้น 4 ของอาคาร วัตถุประสงค์ในการมีบริการด้านนี้ คือการแบ่งเบาภาระพ่อแม่ที่ทำงาน และไม่มีผู้ดูแลเด็กที่บ้าน ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็กที่พ่อแม่ ทำงานในหน่วยงานใกล้เคียงกับศูนย์สุขวิทยาจิต เช่นองค์การเภสัชกรรม รพ.รามาธิบดี รพ.ราชวิถี เป็นต้น
นอกจากนี้ศูนย์สุขวิทยาจิตยังมีโครงการอบรมความรู้แก่ผู้ปกครองเด็กที่มารับบริการโรงพยาบาลกลางวัน โดยได้มีการจัดประชุมผู้ปกครอง และมี วิทยากรบรรยายความรู้ด้านสุขภาพจิต พัฒนาการเด็ก และการอบรมเลี้ยงดูอย่างเหมาะสม เป็นการให้การป้องกันไม่ให้เกิดปัญหา (Primary prevention) ต่อไป หรือเมื่อเด็กเกิดปัญหาการปรับตัว ระหว่างมารับบริการที่ศูนย์สุขวิทยาจิต พ่อแม่ผู้ปกครอง ก็จะได้รับ คำแนะนำในการแก้ปัญหาเด็กด้วย เช่น เด็กบางคนมีปัญหาการแยกจาก เมื่อพ่อแม่พาเด็กมาส่ง เด็กจะร้องไห้เป็นชั่วโมงกว่าจะหยุด หรือเด็กบางคนแยกตัวเองไม่เข้ากลุ่มเพื่อน เป็นต้น
อนึ่ง Day Care สำหรับเด็กปกติก่อนวัยเรียนยังเป็นที่สำหรับเจ้าหน้าที่ของศูนย์แพทย์ประจำบ้านทางจิตเวช ซึ่งมีความสนใจในการศึกษา พฤติกรรมของเด็กปกติ หรือทำการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับ การปรับตัวของเด็กปกติรวมทั้งการเป็นต้นแบบให้หน่วยงานอื่น ซึ่งจะเปิด Day Care สำหรับเด็กปกติ ได้มาศึกษาดูงานที่ศูนย์สุขวิทยาจิตด้วย
สรุป ตั้งแต่เริ่มก่อตั้งคลินิกสุขภาพจิต เมื่อพ.ศ. 2496 แล้วยกระดับเป็นศูนย์สุขวิทยาจิต และย้ายมาที่ตั้งปัจจุบัน เลขที่ 81/15 ถนนพระรามที่ 6 ตรงข้าม รพ.รามาธิบดี เมื่อพ.ศ. 2512 ต่อมาก็ได้เปลี่ยน เป็นสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ จะเห็นพัฒนาการของสถาบันฯ ซึ่งเติบโตขึ้น ทั้งสถานที่ ทำงาน และจำวนเจ้าหน้าที่ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากในระยะแรกมีเพียงทีมจิตเวชเพียง 3 คน ต่อมา ก็มีสหวิชาชีพอื่นที่เข้ามาร่วมปฏิบัติงาน เช่น พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ธุรการและเจ้าหน้าที่อื่นๆ ที่ช่วยให้การปฏิบัติงานของสถาบันฯ เป็นไปด้วยความเข้มแข็ง ราบรื่น ทั้งนี้เริ่มมาจากนโยบาย การสนับสนุน ของ ศจ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว บิดาแห่งสุขภาพ และ ศจ.พญ.คุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ผู้อำนวยการคนแรกของคลินิกสุขวิทยาจิต ซึ่งมีความมุ่งมั่น ในการที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ ของ ศจ.นพ.ฝน ที่จะให้สถาบันฯเป็นศูนย์กลางของงานสุขภาพจิตในแง่ของการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นทั้งการป้องกันก่อนเกิด ปัญหา และการแก้ไขปัญหาเสียแต่ในระยะเริ่มแรก สถาบันฯจึงมีบริการแก้ไขปัญหาเด็ก และวัยรุ่นที่มีปัญหาพฤติกรรม และปัญหาทางอารมณ์ โดยให้บริการ ในแบบผู้ป่วยนอก และโรงพยาบาลกลางวันในระยะแรก
งานที่สำคัญอีกด้านหนึ่งคือ การเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชน ซึ่งทำโดยการเผยแพร่ความรู้ผ่านสื่อมวลชน การอบรมความรู้ให้แก่ผู้ใกล้ชิดเด็ก เช่นครู ครูแนะแนว ซึ่งทำเป็นโครงการสุขภาพจิตโรงเรียน โรงเรียนพ่อแม่ และการจัดทำเอกสารเผยแพร่ เป็นต้น
สถาบันฯ ยังเป็นที่แห่งแรกซึ่งให้การสอนฝึกอบรมด้านกุมารจิตเวชศาสตร์ (Child Psychically ) และเป็นหน่วยงานที่มีวิชาชีพใหม่เกิดขึ้น ซึ่งไม่เคยมีมาก่อนในประเทศไทย ได้แก่ วิชาชีพสังคม สงเคราะห์ทางจิตเวช และจิตวิทยาคลินิก ซึ่งในปัจจุบันหน่วยงานจิตเวชและ สุขภาพจิตทุกแห่ง จะมีทั้งสองวิชาชีพนี้ปฏิบัติงานอยู่ทั่วประเทศ
อาจกล่าวได้ว่าสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ได้มีพัฒนาการในเชิงก้าวหน้าขึ้นจากอดีตสู่ปัจจุบัน ซึ่งสมควรที่ผู้สืบทอดงานที่ ศจ.นพ.ฝน แสงสิงแก้ว และพญ.คุณหญิงสุภา มาลากุล ณ อยุธยา ได้ริเริ่มไว้จะได้คงเอกลักษณ์ และสานต่องานด้านต่างๆ ให้มีความเข้มแข็ง เป็นที่ยอมรับ และมีพัฒนาการที่ดียิ่งขึ้นตลอดไป สมกับที่ศจ.นพ. ฝน แสงสิงแก้ว เคยพูดถึงอยู่เสมอว่า ศูนย์สุขวิทยาจิต (สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ ในปัจจุบัน)คือ “ไข่แดงของงานสุขวิทยาจิต”
“ความสุขของเด็ก ความสุขของครอบครัว คือความสุขของเรา”
สถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์