- รายละเอียด
- เขียนโดย Super User
- ฮิต: 7434
ประสบการณ์ปัญหาในการทำกลุ่มจิตบำบัด
โดย พันตำรวจโท วินัย ธงชัย (วท.บ.,นบ.,กศ.ม.)
ผู้เขียนทำงานเป็นนักจิตวิทยาเป็นเวลาหลาย ๆ ปี และจากประสบการณ์ในการทำกลุ่มจิตบำบัดกับคนไข้จิตเวชในอดีต รวมทั้งจากการพูดคุยแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทำกลุ่มจิตบำบัดกับนักจิตวิทยาท่านอื่น ๆ พบว่า โดยส่วนมากผู้นำกลุ่มมักมีความคิดว่าการทำกลุ่มจิตบำบัดเป็นเรื่องไม่ยากลำบาก เพียงนำคนไข้มาร่วมกันพูดคุยเกี่ยวกับปัญหาแล้วช่วยกันแก้ไขก็เท่านี้หรือทำตามโปรแกรมหรือคู่มือที่ได้รับมาจากการอบรม แต่เมื่อเริ่มทำกลุ่มจริง ๆ พบว่า มีปัญหาในการดำเนินกลุ่มอย่างมากมาย เช่น คนไข้ที่เข้ากลุ่มจิตบำบัดบางคนไม่พูดหรือพูดไม่รู้เรื่อง มีอาการทางจิตมาก จำนวนคนไข้เข้ากลุ่มบางครั้งก็มากเกิน (10-12 คน) บางครั้งก็น้อยเกิน (3-4) นอกจากนี้เมื่อเริ่มพูดคุยประเด็นปัญหาพบว่า คนไข้ส่วนมากไม่ค่อยยอมพูดเกี่ยวกับปัญหาของตน บางรายบอกว่าไม่มีปัญหาอะไร ครอบครัวอยู่กันอย่างมีความสุข และในบางครั้งคนไข้บางรายก็พูดมากเกินและมีปัญหามาก ต้องการพูดคุยกับผู้นำกลุ่มเกี่ยวกับปัญหาของตนเองตลอดเวลาการทำกลุ่ม ทำให้คนไข้อื่นในกลุ่มรู้สึกเบื่อหน่ายและไม่สนใจกลุ่ม และต่อมาเมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้บ่อย ๆ ผู้นำกลุ่มก็เริ่มท้อถอย แต่ก็พยายามหากลวิธีในการดำเนินกลุ่มให้ดูน่าสนใจและมีประโยชน์ ซึ่งพบว่าผู้นำกลุ่มส่วนมากมักใช้การสอนหรือให้ความรู้และอาจนำเกมหรือกิจกรรมอื่น ๆ เข้ามาใช้ในการทำกลุ่ม มีผลให้กลุ่มดูสนุกคนไข้ให้ความสนใจ แต่ประโยชน์ของกลุ่มที่ได้เพียงช่วยให้คนไข้ผ่อนคลายเท่านั้น คนไข้ไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับปัญหาของตนเองเท่าทีควร และลักษณะกลุ่มที่ทำอยู่นั้นเป็นเพียงกิจกรรมกลุ่ม (Group Activity) มากกว่าจะเป็นกลุ่มจิตบำบัด ระยะต่อมาผู้นำกลุ่มเริ่มรู้สึกลำบากใจในการทำกลุ่มจิตบำบัด เพื่อให้เกิดประโยชน์แก่คนไข้ให้มากที่สุด จึงมีผลให้ผู้นำกลุ่มเริ่มหลีกเลี่ยงการทำกลุ่ม หาโอกาสที่จะหยุดและไม่ทำกลุ่ม แต่ถือว่าโชคดีที่ผู้เขียนได้มีโอกาสเข้าฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการทำกลุ่มจิตบำบัดอย่างต่อเนื่อง(8-10 ปี) ทำให้ผู้เขียนเข้าใจถึงการทำกลุ่มจิตบำบัดที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไรและเห็นถึงจุดบกพร่องของตนเองหลายประการในอดีต ซึ่งมีผลให้การดำเนินกลุ่มจิตบำบัดไม่ประสบผลสำเร็จ ดังขออธิบายปัญหาและข้อบกพร่องต่าง ๆ ดังนี้
1. ขั้นเตรียมกลุ่มจิตบำบัด
1.1 ความไม่สอดคล้องกับนโยบายของหน่วยงาน กล่าวคือถ้าหน่วยงานไม่มีนโยบายให้มีการจัดกลุ่มจิตบำบัดในคนไข้ ซึ่งถ้าผู้นำกลุ่มจัดกลุ่มจิตบำบัด ผู้บังคับบัญชาจะไม่ค่อยสนับสนุนการทำกลุ่มจิตบำบัด
1.2 ไม่มีการสำรวจความต้องการของคนไข้ก่อนว่า มีความต้องการความช่วยเหลือจากผู้บำบัดก่อนหรือไม่ และต้องการความช่วยเหลือในรูปแบบใดและในเรื่องใด เพราะถ้าผู้นำกลุ่มดำเนินกลุ่มในลักษณะที่ไม่ตรงกับความต้องการของคนไข้ก็จะทำให้คนไข้ไม่ให้ความร่วมมือ ไม่สนใจกลุ่ม รู้สึกเบื่อหน่าย
1.3 ไม่มีการเตรียมคนไข้ก่อนนำเข้าทำกลุ่มจิตบำบัด กล่าวคือ ผู้นำกลุ่มไม่ได้สำรวจและสัมภาษณ์คนไข้ก่อนจัดกลุ่ม ทำให้คนไข้ที่มีอาการทางจิตมาก ๆ เข้าร่วมกลุ่ม ซึ่งยังผลให้เป็นที่รบกวนการดำเนินกลุ่มอย่างมาก
1.4 กลุ่มไม่มีความหลากหลาย เช่นโรงพยาบาลบางแห่งมีเฉพาะคนไข้ชาย ทำให้การทำกลุ่มจิตบำบัดมีแต่สมาชิกเป็นผู้ชาย เนื้อหาเรื่องที่พูดคุยกันมีความจำกัดเฉพาะด้านของผู้ชาย หลายครั้งเนื้อหาเป็นการโจมตีผู้หญิง (ภรรยาของคนไข้) และคนไข้ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายที่มีปัญหากับภรรยาคล้าย ๆ กัน จึงมักมีความเห็นเหมือนกันโจมตีผู้หญิงว่าไม่ดี เอาเปรียบ
2. ขั้นดำเนินกลุ่มจิตบำบัด
ในขั้นนี้ลักษณะปัญหาแบ่งได้เป็น 2 ประเภทใหญ่ ได้แก่
(1) ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่ม
(2) ลักษณะปัญหาของกระบวนการกลุ่ม
2.1 ลักษณะปัญหาเกี่ยวกับสมาชิกกลุ่ม
2.1.1 สมาชิกกลุ่มไม่ค่อยพูดหรือมักปฏิเสธว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไร แม้ผู้นำกลุ่มจะได้พยายามถามด้วยคำถามเปิด เช่น “ใครมีปัญหาอะไรบ้าง เชิญขอให้เล่าได้เลย” มีคนไข้น้อยรายมากที่จะยอมเล่าเรื่องของตนเองก่อน หรือถ้าถามเรียงคนก็มักจะปฏิเสธว่าตนเองไม่มีปัญหาอะไร
2.1.2 ในกรณีคนไข้บางรายมีอาการทางจิตมากและไม่ยอมอยู่ร่วมในการทำกลุ่ม ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ควรอนุญาตให้กลับที่พักในตึกผู้ป่วย หรือควรให้อยู่ในกลุ่มต่อไป หรือควรให้นั่งสังเกตนอกกลุ่ม ซึ่งในกรณีที่ยอมให้อยู่ในกลุ่มต่อ ผู้นำกลุ่มมักเสียเวลาต้องดูแลจัดการคนไข้รายนี้อย่างมากจนบางครั้งทำให้สมาชิกอื่นบางรายรำคาญได้
2.1.3 คนไข้สมาชิกในกลุ่มบางรายมีอาการเสียใจ เจ็บปวดจากเรื่องที่เล่า หรือถูกสมาชิกในกลุ่มพูดแรง ๆ จนต้องร้องไห้ ผู้นำกลุ่มมักจะต้องระงับเหตุการณ์และสะท้อนความรู้สึกของคนไข้และพยายามปลอบใจ ให้กำลังใจ แต่มักปรากฏว่าคนไข้กลับร้องไห้มากขึ้น ดังขึ้น จนต้องเสียเวลาในการปลอบใจและให้คนไข้รายอื่นให้กำลังใจ ปลอบใจคนไข้ด้วยกัน และพบว่าบรรยากาศของกลุ่มดูแย่ลง สมาชิกบางรายตกใจ เสียขวัญ
2.1.4 ในกรณีสมาชิกค่อนข้างก้าวร้าว มักพูดดูถูกคนไข้อื่นหรือให้คำแนะนำผู้อื่นแบบตรงไปตรงมา ไม่รักษาน้ำใจผู้อื่น ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไรกับคนไข้ดังกล่าว จึงจะเกิดประโยชน์กับกลุ่มและกับคนไข้ประเภทนี้
2.1.5 การขอให้คนไข้ในกลุ่มช่วยกันแสดงความคิดเห็นแก้ไขปัญหาของสมาชิกที่เล่าปัญหา มักพบว่าคนไข้สมาชิกกลุ่มมักไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นรวมทั้งสมาชิกเจ้าของปัญหามักรู้สึกว่าคนไข้สมาชิกอื่นก็มีปัญหาเช่นกันแล้วจะช่วยเหลือกันได้อย่างไร
2.2 ลักษณะปัญหาของกระบวนการกลุ่ม
2.2.1 การแนะนำกลุ่มจิตบำบัดแก่คนไข้ เพื่อให้ทราบถึงวิธีการ กฎกติกา วันเวลาในการทำกลุ่ม วัตถุประสงค์และประโยชน์ที่จะได้รับนั้นว่า ควรอธิบายมากน้อยเพียงใด บางครั้งแนะนำน้อยไป คนไข้ไม่เข้าใจและไม่รู้จะวางตัวอย่างไรในกลุ่ม และถ้าอธิบายมากไปก็ดูน่าเบื่อหน่าย คนไข้อาจต้องจดจำหรือระมัดระวังตนเองมากเกินไปได้
2.2.2 เมื่อสมาชิกในกลุ่มเล่าเรื่องและปัญหาแล้วทุกคน ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรจะเริ่มเรื่องรายใดก่อน ซึ่งแต่ก่อนมักจะให้คนไข้เลือกเรื่องที่สนใจ บางครั้งเรื่องที่คนไข้เลือกมักเป็นเรื่องที่ไม่ค่อยมีประโยชน์นัก เช่น เป็นเรื่องที่คนไข้อยากรู้ประวัติของคนไข้กันเอง และผู้นำกลุ่มก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรที่จะชักนำกลุ่มให้พูดคุยในเรื่องที่เป็นประโยชน์ โดยมากคนไข้มักพูดคุยในเรื่องที่เป็นอดีต
2.2.3 บางครั้งก่อนทำกลุ่มผู้นำกลุ่มได้มีโอกาสพูดคุยกับพยาบาลประจำตึกคนไข้ พบว่าบางครั้งมีปัญหาว่าคนไข้ฝ่าฝืนระเบียบการรักษาและกฎเกณฑ์ของตึก เช่น แอบออกไปดื่มสุราข้างนอก หรือมีการลักขโมยของกันในตึกและทะเลาะกัน เมื่อเข้ากลุ่มคนไข้หลีกเลี่ยงที่จะพูดคุยถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในตึกและผู้นำกลุ่มเองก็ไม่แน่ใจว่าควรนำเรื่องนี้มาพูดคุยในกลุ่มหรือไม่ หรือถ้านำมาพูดควรจะพูดอย่างไรจึงจะเป็นประโยชน์กับคนไข้มากที่สุด
2.2.4 ในการซักถามรายละเอียดปัญหาคนไข้สมาชิกกลุ่ม พบว่าผู้นำกลุ่มบางคนมักถามในรายละเอียดของปัญหามาก ทำให้เมื่อซักถามยาวทำให้สมาชิกคนอื่นรู้สึกเบื่อและไม่สนใจกลุ่ม และถ้าซักถามน้อยไป ทำให้ไม่ได้ประเด็นปัญหาที่เด่นชัด
2.2.5 เมื่อคนไข้สมาชิกเล่าเรื่องปัญหาของตนแล้วพบว่า เป็นเรื่องที่มีความแตกต่างกัน มีความหลากหลายมาก ทำให้ผู้นำกลุ่มไม่รู้ว่าวันนั้นจะพูดคุยทุกเรื่องให้ครบได้อย่างไรโดยที่สมาชิกทุกคนจะได้ประโยชน์ ซึ่งถ้าเอาทุกเรื่องมาพูดมักจะเกินเวลาในการทำกลุ่ม
2.2.6 หลายครั้งผู้นำกลุ่มฟังเรื่องของคนไข้แล้วพบว่ามีตัวปัญหาสำคัญแท้จริงเป็นคนละเรื่องกับที่คนไข้เข้าใจ เมื่อผู้นำกลุ่มพยายามอธิบายมักพบว่า คนไข้มีความรู้สึกสับสน ไม่เข้าใจ บางครั้งก็หัวเสีย และสมาชิกคนอื่นก็รู้ไม่เข้าใจด้วยยิ่งทำให้การทำกลุ่มครั้งนั้นดูตึงเครียดทั้งคนไข้และผู้นำกลุ่ม
2.2.7 หากปัญหาของคนไข้เป็นเรื่องยาก มีความลำบากในการตัดสินใจ แม้สมาชิกในกลุ่มพยายามแสดงความคิดเห็นก็ไม่สามารถหาทางออกที่ดีได้ ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ยิ่งทำให้มีความรู้สึกอึดอัดใจที่ไม่สามารถช่วยคนไข้ได้และไม่รู้ว่าจะพูดปลอบใจคนไข้อย่างไร
3. ขั้นจบกระบวนการกลุ่ม
3.1 เมื่อครบเวลาในการทำกลุ่มแล้ว แต่เรื่องที่พูดคุยยังไม่หมด ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรจะหยุดกลุ่มเลยหรือควรต่อเวลาพูดคุยออกไปจนหมดประเด็นปัญหา
3.2 เมื่อจบกลุ่มควรมีการสรุปประเด็นปัญหาการพูดคุยในวันนั้นหรือไม่ ใครควรเป็นผู้สรุปประเด็นปัญหา
3.3 ในกรณีมีคนไข้อื่นที่ไม่ได้เข้ากลุ่มนั่งสังเกตการณ์อยู่นอกกลุ่ม ผู้นำกลุ่มไม่แน่ใจว่าควรให้บุคคลนอกกลุ่มพูดวิจารณ์กลุ่มหรือไม่
3.4 ในกรณีที่ตอนท้ายของกระบวนการกลุ่มจะจบ มีประเด็นปัญหาเกิดขึ้นแล้วทำให้คนไข้สมาชิกเสียใจและร้องไห้ขึ้นมา ผู้นำกลุ่มไม่ทราบว่าควรทำอย่างไร ควรต่อเวลาทำกลุ่มออกไปหรือไม่ ทำอย่างไรสมาชิกคนอื่นจะไม่ตกใจและเสียขวัญ
จากที่กล่าวมาข้างต้นเป็นประสบการณ์ในอดีตที่ผู้นำกลุ่มหลาย ๆ คนอาจเคยประสบมา ยังผลให้มีความรู้สึกลำบากในการทำกลุ่มจิตบำบัด ซึ่งพบว่าปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมีสาเหตุมาจากหลายประการพอสรุปได้ คือ
1. ไม่ทราบว่ากลุ่มจิตบำบัดคืออะไร
2. ไม่ทราบว่ากลุ่มจิตบำบัดทำงานอย่างไร
3. ไม่ทราบเป้าหมายหรือเข้าใจปัจจัยของการรักษาของกลุ่มจิตบำบัดว่ามี
อะไรบ้าง
4. ไม่ทราบวิธีการชักนำให้คนไข้สมาชิกกลุ่มไปสู่เป้าหมายของกลุ่ม
และโอกาสหน้าจะได้มาขยายความวิธีการแก้ไขในแต่ละปัญหาอีกทีครับ