เขียนโดย Super User
ฮิต: 12027

  

เนื้อหาโดย Webmaster

เนื้อหาต่อไปนี้เป็นเนื้อหาที่ได้จากการเว็บไซต์ http://verellie.exteen.com โดยบอกเล่าถึงการวิจัย The Stanford Prison Experiment ซึ่งเป็นการวิจัยที่ผิดจรรยาบรรณ และมีความน่าสนใจที่แสดงถึงบทบาทที่ได้รับ ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางจิตใจและพฤติกรรม จึงคัดลอกมาให้อ่านกันบางส่วนและหากสนใจสามารถอ่านฉบับเต็มในลิงค์ส่วนเพิ่มเติมตอนท้าย

เนื้อหาจากเว็บไซต์ http://verellie.exteen.com (บางส่วน)

Stanford Prison Experiment: จากงานวิจัยสู่ภาพยนตร์

posted on 21 Sep 2011 19:34 by verellie  in Movie

วันนี้มาอย่างยาวค่ะ...

จะเขียนเกี่ยวกับการทดลอง Stanford Prison Experiment ค่ะ

การทดลองนี้เป็นการจำลองสภาพภายในเรือนจำจริงๆ แต่หนูทดลองเป็นคนธรรมดานี่แหละ

ไม่ใช่นักโทษแต่อย่างใด

การทดลองนี้เริ่มในวันที่ 14 สิงหาคม วันเกิดของดิชั้นเชียวนะ กร๊าก แต่เค้าเริ่มในปี 1971 นะ

จากที่วางแผนไว้ว่าจะเก็บข้อมูลตลอดสองสัปดาห์ 

ทว่าผ่านไปแค่หกวัน นักวิจัยก็ตัดสินใจ ยกเลิกการทดลองกลางคัน ค่ะ

เพราะไม่สามารถทดลองต่อไปได้จริงๆ ด้วยเกรงว่าความรุนแรงที่ปะทุมากขึ้นเรื่อยๆ จะเกินกำลังควบคุม

ทั้งๆ ที่ผู้รับการทดลองก็ถูกคัดเลือกมาแล้วว่ามีสุขภาพจิตโอเค ไม่ใช่อาชญากร

....หากสภาพสิ่งแวดล้อมของเรือนจำ ทำให้คนเรากลายเป็นอะไรก็ได้ ภายในเวลาอันสั้น...

การทดลองนี้ ได้ถูกนำมาดัดแปลงเป็นบทภาพยนตร์ถึงสองเรื่องด้วยกัน

นั่นคือ Das Experiment (2001) และ The Experiment (2010)

เอนทรี่นี้จะร่ายยาวตั้งแต่การทดลองจริงๆ ซึ่งมีการบันทึกผลเป็นวีดีโอเทป

ไปจนถึงรีวิวภาพยนตร์ทั้งสองเรื่องเลยค่ะ

: ) ใครสนใจ เชิญอ่านกันได้นะคะ


**************************

Stanford Prison Experiment

14-20 สิงหาคม 1971

อ้างอิงจาก SPE Official Website

 

ปูพื้นฐาน

รายละเอียดงานวิจัย

Stanford Prison Experiment เป็นงานวิจัยเชิงจิตวิทยาเพื่อสังเกตพฤติกรรมของกลุ่มทดลองที่ถูกเลือกมา แสดงบทบาทพัศดีและนักโทษในเรือนจำจำลอง ริเริ่มและทำการทดลองโดยศจ. Philip Zimbardo แห่งมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด งานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพและเป็นที่สนใจเป็นอย่างมาก เพราะคิดว่างานวิจัยนี้อาจจะทำให้ทราบเหตุผลของเหตุขัดแย้งและการกระทำ รุนแรงที่เกิดขึ้นระหว่างผู้นักโทษและนักโทษในเรือนจำจริงๆ

ผู้รับการทดลอง

แรก เริ่ม ทางกลุ่มนักวิจัยประกาศรับสมัคร subject หรือผู้เข้ารับการทดลอง โดยมีค่าตอบแทนให้ด้วย และได้คัดเลือกนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ในสหรัฐฯและแคนาดาจำนวน 24 คนมาเป็นหนูทดลอง โดยทั้ง 24 คนต้องไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง ไม่บกพร่องทางสภาพจิต และไม่มีประวัติอาชญากรรม พวกเขาทั้ง 24 ล้วนสุขภาพแข็งแรง ฉลาดเฉลียวและเป็น ชายหนุ่มปกติธรรมดาทั่วไป

ผู้รับการทดลองถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ได้แก่ กลุ่มพัศดี และ กลุ่มนักโทษ โดยการสุ่มเลือก

สภาพแวดล้อม

สถานที่ทำการทดลองอยู่ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด พวกเขา่เปลี่ยนห้องใต้ิดินของตึกวิจัยเป็นเรือนจำขนาดเล็ก เปลี่ยนประตูเป็นลูกกรงแล้วใช้ห้องวิจัยแทนห้องขัง มีระเบียงให้นักโทษใช้เป็นที่ออกกำลังกาย ไม่มีทั้งหน้าต่างและนาฬิกา นอกจากนี้ยังมีตู้ขนาดเล็ก ใช้แทน Hole (ห้องมืด ห้องขังเดี่ยว) สำหรับลงโทษนักโทษที่ไม่ดี

ช่วงเวลา

*ทีแรกนักวิจัยกำหนดช่วงเวลาว่าจะทดลองทั้งหมด 14 วัน หากเพียง 6 วัน การทดลองนี้ก็ต้องถูกระงับลง*

วิธีการ

1.     จับตัวนักโทษ โดยให้รถตำรวจไปจับตัวนักศึกษาจากบ้านเหมือนจับคนร้ายจริงๆ ทุกประการ มีการกำหนดความผิดของแต่ละคน จากนั้นก็ผูกตา พานักโทษไปส่งยังเรือนจำ

o   ขั้นตอนการส่งตัวนักโทษโดยปกติแล้วจะไม่มีการผูกตา แต่ทั้งนี้ทำเพื่อให้หนูทดลองตกใจและสับสนงุนงงมากยิ่งขึ้น

2.     นักโทษถูกสั่งให้ถอดเสื้อผ้า ให้พัศดีฉีดน้ำ ผลัดเปลี่ยนเป็นชุดนักโทษ (ชุดกระโปรงลักษณะคล้ายถุงกระสอบ) สวมถุงน่องที่หัว (เลียนแบบการโกนผมนักโทษ) ไม่ได้สวมชุดชั้นใน สวมรองเท้าแตะ และมีโซ่คล้องข้อเท้าตลอดเวลา

o   นักวิจัยระบุว่า เครื่องแบบนี้ทำให้นักโทษชายรู้สึกอ่อนแอลง เพราะใส่กระโปรงเหมือนผู้หญิงแถมยังไม่มีชุดชั้นใน การให้ทุกคนทำผมทรงเดียวกันเหมือนในเรือนจำหรือกองทัพก็เพื่อลบลักษณะเฉพาะ บุคคลให้หมดไป ให้ทุกคนเหมือนกัน เช่นเดียวกับการปกครองระบอบคอมมิวนิสต์นั่นเอง ส่วนโซ่คล้องคอจะทำให้พวกเขาระลึกเสมอว่าตัวเองเป็นนักโทษ

o   อย่างไรก็ตาม เรือนจำของจริงส่วนใหญ่แล้วไม่ให้นักโทษใส่เครื่องแบบอะไรแบบนี้หรอก...

3.     นักโทษทุกคนจะมีเลขประจำตัว จะถูกเรียกด้วยเลข และทุกคนจะต้องแทนตัวเองด้วยเลขประจำตัวเท่านั้น

4.     หากต้องการไปเข้าห้องน้ำ ผู้คุมจะเป็นคนพาไป โดยนักโทษจะถูกปิดตาด้วยการเอาถุงคลุมหน้าด้วย

5.     มีการนับจำนวนนักโทษวันละหลายครั้ง

6.     ผู้คุมไม่ได้รับการฝึกอบรมอะไรทั้งนั้น แต่จะได้ใส่ชุดผู้คุม สวมแว่นตาดำเพื่อให้ไม่ให้นักโทษเห็นแววตา มีกระบองและกุญแจมือ

7.     ผู้คุมทำอย่างไรก็ได้ให้นักโทษอยู่ในกฎระเบียบ หากเกิดเหตุการณ์ที่นักโทษก่อจราจล พยศ ท้าทาย ผู้คุมต้องประชุมกันหาวิธีแก้ไขสถานการณ์เอาเอง แต่ห้ามทุกคนใช้ความรุนแรงเป็นอันขาด หากเกิดเหตุรุนแรงขึ้น การทดลองจะถูกระงับทันที

8.     มีการติดตั้งกล้องวีดีโอเก็บภาพและบทสนทนาของทุกคนตลอดเวลา และนักวิจัยสามารถเรียกนักโทษไปสัมภาษณ์ได้

9.     มีกำหนดวันเยี่ยม ให้ครอบครัวมาเยี่ยมลูกหลานได้

10.มีการเชิญบาทหลวงมาคุยกับนักโทษ

11.มีการยื่นขอลดหย่อนโทษ (Parole)

 

ผลการทดลอง

1.     ช่วงแรกการทดลองดำเนินไปอย่างเรียบร้อยน่ารัก เพราะทุกคนยังตื่นเต้น และเห็นการทดลองนี้เหมือนค่ายพักแรมชนิดหนึ่ง นักโทษยังไม่รู้ตัวว่าตัวเองนั้นถูกริบ "สิทธิมนุษยชน" ไปเรียบร้อยแล้ว

2.     ความเครียดเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อนักโทษรวมหัวกันสไตรค์ ไม่ยอมทำตามคำสั่งผู้คุม ผู้คุมจึงต้องคิดหาวิธีลงโทษ

3.     เนื่องจากถูกสั่งห้ามไม่ให้ใช้ความรุนแรง ผู้คุมจึงใช้วิธี "หยามเกียรติ" โดยการฉีดน้ำยาดับเพลิงใส่ สั่งให้ถอดเสื้อผ้า ริบเตียงออกจากห้องขัง หรือสั่งให้ทำความสะอาดโถส้วมด้วยมือเปล่า

4.     การทำโทษอื่นๆ ก็มี เช่น สั่งให้วิดพื้น ทีแรกนักวิจัยคิดว่าเป็นการลงโทษที่ดูเด็กเกินไป แต่มารู้ทีหลังว่า พวกนาซีก็ใช้วิธีนี้ลงโทษชาวยิวเช่นกัน ช่วงแรกนักโทษทำตามคำสั่งเพราะเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อย แต่เมื่อความเครียดสั่งสม การวิดพื้นก็ไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยอีกต่อไป ผู้คุมบางคนเหยียบนักโทษ หรือสั่งให้นักโทษคนอื่นขึ้นไปนั่งบนหลังนักโทษที่กำลังวิดพื้นด้วย

5.     ผู้คุมหวั่นเกรงว่าหากนักโทษรวมหัวกัน ก็จะทำร้ายพวกตนได้ พวกเขาจึงพยายามทำลายเอกภาพของนักโทษด้วย การ มอบสิทธิพิเศษให้นักโทษบางคน หมุนเวียนกันไป เพื่อให้นักโทษงุนงง อิจฉา และเกิดความสงสัยในตัวนักโทษด้วยกันเอง อดีตนักโทษที่เป็นที่ปรึกษาในงานวิจัยระบุว่า ในเรือนจำจริงๆ ก็มีการใช้วิธีนี้เพื่อให้นักโทษแตกคอกันเช่นกัน

6.     ผู้คุมเพ่งเล็งนักโทษที่เป็น Prison Shutcall (หัวหน้า)และกลั่นแกล้งนักโทษคนนี้มากเป็นพิเศษ

7.     มีการ Lockdown หรือปิดห้องขังไม่ให้นักโทษออกมาข้างนอก ไม่ให้ไปเข้าห้องน้ำ ให้ขับถ่ายในห้อง ทำให้เกิดกลิ่นไม่พึงประสงค์ สั่งสมความเครียดมากยิ่งขึ้น

8.     นักโทษเก่าขู่นักโทษที่เข้ามาใหม่ถึงความเลวร้ายใน "ห้องทดลอง" แห่งนี้ และบอกว่าพวกเขาไม่มีวันออกไปได้ เช่นเดียวกับในคุกจริงที่นักโทษรุ่นพี่มักจะบอกเล่าเรื่องราวความเลวร้าย ต่างๆ ให้นักโทษหน้าใหม่ฟัง

9.     นักโทษหลายคนเครียด โวยวาย ร้องไห้ และต้องการออกจากการทดลอง บ้างอดอาหารเพื่อประท้วง

10.ผู้คุมและนักโทษเข้าถึงบทบาทจนแยกไม่ออกระหว่างความจริงและการทดลอง พวกเขาเริ่มเรียกตัวเองด้วยหมายเลขนักโทษ เชื่อฟังคำสั่งของผู้คุมเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา เชื่อฟังคำของเจ้าหน้าที่เมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้รอผลยื่นขออภัยโทษ (ทั้งๆ ที่ผู้รับการทดลองสามารถขอออกจากการทดลองได้ตลอดเวลา)

11.ในท้ายที่สุด สามารถแบ่งผู้คุมออกเป็นสามประเภท 

o   ผู้คุมที่ดี เข้มงวด ทำตามกฎ แต่ไม่รังแกนักโทษ

o   ผู้คุมที่ใจดี ใจอ่อน ช่วยเหลือนักโทษเสมอ

o   ผู้คุมชั้นเลว ชอบข่มเหงรังแกนักโทษเพื่อความเพลิดเพลิน

12.พฤติกรรมของผู้รับการทดลองเปลี่ยนไป บางคนกลายเป็นพวกซาดิสต์ โดยที่นักวิจัยไม่สามารถเดาได้จากการสัมภาษณ์ขั้นต้น สิ่งหนึ่งที่สังเกตได้คือผู้ที่มีอำนาจ(หรือศักดินา)สูงกว่าจะอดทนต่อสภาพภายในเรือนจำได้มากกว่า ดังจะเห็นได้จาก ผู้คุมไม่ขอออกจากการทดลองกลางคัน ไม่เคยมาสายหรือหยุดงานเลย พวกเขาเสียดายที่การทดลองจบลงด้วยเวลาเพียงหกวัน ในขณะที่นักโทษหลายคนขอออกจากการทดลอง และดีใจมากที่การทดลองจบสิ้นลงเสียที

พฤติกรรมของนักวิจัย

1.     พวกเขาคอยดูกลุ่มทดลองทางกล้องวีดีโอ และเรียกตัวหนูทดลองมาพูดคุยด้วยในบางครั้ง

2.     แต่พวกเขาไม่อนุญาตให้ผู้รับการทดลองออกจากการทดลองทันทีที่ผู้รับการ ทดลองร้องขอ และต้องตรวจสอบก่อนว่าผู้รับการทดลองประสบปัญหา ต้องออกจากการทดลองจริงๆ

3.     เกิดข่าวลือว่า ผู้รับการทดลองที่ออกจากการทดลองไปก่อนจะพาพรรคพวกกลับมาชิงตัวนักโทษ นักวิจัยเตรียมการป้องกันราวกับว่าเรือนจำของพวกเขานั้นเป็นเรือนจำจริงๆ และเมื่อความจริงปรากฏว่าข่าวลือเป็นเพียงข่าวลือ นักโทษก็ถูกลงโทษด้วย แม้แต่ผู้วิจัยก็อินกับบทบาทเสียจนลืมจุดประสงค์ของการวิจัยไปเสียสิ้น

4.     ในวันที่ให้ผู้ปกครองเข้าเยี่ยม นักวิจัยเกรงว่าพ่อแม่จะโวยวายที่เห็นสภาพสุดโทรมของลูกชาย ก่อนหน้านั้นจึงเลี้ยงดูนักโทษอย่างดี ให้อาบน้ำ โกนหนวดเครา ทำความสะอาด จัดพนักงานต้อนรับแสนสวยไว้คอยต้อนรับคณะผู้ปกครอง เรียกว่าสร้างภาพสุดฤทธิ์

จุดจบ

1.     ผู้ปกครองเรียกร้องให้ปล่อยตัวลูกชายของตน ไม่ใช่นั้นแล้วจะมีการเรียกทนายความมาดำเนินการตามกฎหมาย

2.     ผู้คุมนิสัยเลวข่มเหงรังแกนักโทษ ผู้คุมนิสัยดีก็ได้แต่ปลง ไม่สามารถห้ามปรามได้

3.     ผู้คุมบางคนทำร้ายร่างกายนักโทษตอนกลางคืนเพราะคิดว่านักวิจัยไม่ได้จับ ตามองอยู่ เนื่องด้วยความเบื่อหน่ายทำให้วิธีการทำร้ายร่างกาย.... น่ารังเกียจมากขึ้นเรื่อยๆ

4.     มีผู้คัดค้านวิธีการทดลองและต่อต้านในสิ่งที่ผู้คุมทำกับนักโทษ (ล่ามนักโทษไปห้องน้ำพร้อมกันโดยมีถุงกระดาษครอบศีรษะ)

การทดลองจึงจบลง

เนื้อหาเพิ่มเติม

- สามารถอ่านบทความนี้ฉบับเต็มเพิ่มเติมได้ที่ http://verellie.exteen.com/20110921/stanford-prison-experiment

- อ่านบทความเรื่องนี้เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ Pantip ในสองกระทู้นี้ กระทู้แรก และ กระทู้ที่สอง

ที่มา

http://verellie.exteen.com/20110921/stanford-prison-experiment , http://pantip.com/topic/32483707 , http://pantip.com/topic/32533344 , ภาพประกอบ