เขียนโดย Super User
ฮิต: 7082

ประวัติสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย

          นับตั้งแต่สำนักงานข้าราชการพลเรือนได้กำหนดให้มีตำแหน่งนักจิตวิทยาขึ้นในประเทศไทยในปีพุทธศักราช 2506 เป็นต้นมาจวบจนถึงปัจจุบันนับรวมได้ 48 ปี กล่าวคือ กระบวนการพัฒนาบทบาทหน้าที่ทางด้านจิตวิทยาคลินิกเริ่มเติบโตขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไปโดยมีอาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ ( สกุลเดิม บุนนาค) ซึ่งดำรงตำแหน่งนักจิตวิทยาท่านแรกที่ได้วางรากฐานสาขาจิตวิทยาคลินิก ซึ่งเป็นทั้งแม่แบบ และผู้หล่อหลอมให้วิชาชีพนักจิตวิทยาคลินิกมีความเป็นวิชาชีพที่แท้จริง ด้วยความสำนึกและเคร่งครัดในจรรยาบรรณ คำนึงถึงความถูกต้องตามหลักวิชาการในการให้ความช่วยเหลือผู้ป่วยอย่างใจเป็นกลาง เป็นสิ่งที่มีการปลูกฝังกันมาตั้งแต่เริ่มต้นและมีการถ่ายทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

          ในปี พุทธศักราช 2512 เริ่มมีการก่อตั้งชมรมนักจิตวิทยาคลินิกขึ้น โดยมีอาจารย์สมทรง สุวรรณเลิศ เป็นประธานชมรมฯ กิจกรรมที่ทำต่อเนื่องกันมาทุกปี คือ การประชุมวิชาการประจำปี รวม 7 ครั้ง และเริ่มมีการจัดทำวารสารชมรมนักจิตวิทยาคลินิก โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า Journal of The Clinical Psychologist Club มีกำหนดออก ปีละ 3 ฉบับ ฉบับแรกที่ออกเมื่อวันที่ 5 กันยายน 2513 การออกวารสารชมรมนักจิตวิทยาคลินิก มีจุดมุ่งหมาย เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางจิตวิทยาคลินิก จิตเวช และศาสตร์ใกล้เคียงอื่น ๆ รวมถึงการรายงานข่าวความเคลื่อนไหวในวงการจิตวิทยาคลินิก ซึ่งก็มีผลงานใหม่ ๆ ด้านจิตวิทยาคลินิกและสุขภาพจิตที่เป็นประโยชน์แก่ชุมชนลงตีพิมพ์ โดยได้รับความร่วมมือจากหน่วยงานหรือองค์กรอื่นทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          ต่อมาในปีพุทธศักราช 2519 ชมรมนักจิตวิทยาคลินิก เลื่อนฐานะจากชมรม ฯ ขึ้นมาเป็นสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทยโดยใช้อักษรย่อว่า ส.น.ค.ท. และใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "The Thai Psychologist Association ( TPA) โดยมีนางสาวอุ่นเรือน อำไพพัสตร์ เป็นนายกสมาคม ฯ และนับเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับความกรุณาจากศาสตราจารย์นายแพทย์ฝน แสงสิงแก้ว ศาสตราจารย์หม่อมหลวงตุ้ย ชุมสาย ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสพ รัตนากร แพทย์หญิงคุณหญิงสุภา มาลากุล และนายแพทย์ประสิทธิ์ หะรินสุต มาเป็นที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ในขณะนั้น ส่วนที่ปรึกษาก็ยังคงได้รับความกรุณาจากนักจิตวิทยาอาวุโสคือ นางสมทรง สุวรรณเลิศ และนายณรงค์ศักดิ์ ตะละภัฏ และมีคณะกรรมการอำนวยการบริหารงานของสมาคม ฯ วาระละ 2 ปี ต่อมาได้มีการปรับเปลี่ยนชื่อวารสารใหม่มาเป็นวารสารจิตวิทยาคลินิก โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า "Journal of Clinical Psychology" มาจนถึงปัจจุบัน และได้มีการพัฒนาให้สอดคล้องกับการพัฒนาการทางสังคม โดยมีวัตถุประสงค์ของการจัดทำวารสารสมาคม ฯ ดังนี้คือ

          1. เพื่อเพิ่มพุนความรู้และประสบการณ์ระหว่างสมาชิก

          2. ส่งเสริมและดูแลคุณภาพงานด้านจิตวิทยาคลินิกและจิตวิทยาแก่สมาชิกทั้งด้านการปฏิบัติและวิชาการ

          3. เพื่อร่วมมือกันผลิตผลงานการวิจัยทางด้านจิตวิทยาคลินิกและสุขภาพจิตให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชน

          4. เพื่อเผยแพร่ความรู้ทางด้านจิตวิทยาคลินิกและสุขภาพจิตแก่ประชาชน

          5. ร่วมมือกับสมาคมและสถาบันอื่น ๆ ที่มีวัตถุประสงค์คล้ายคลึงกันทั้งในประเทศและต่างประเทศ

          6. ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง

          เนื่องจากวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกมีลักษณะการทำงานที่มีแนวปฏิบัติแตกต่างจากวิชาชีพจิตวิทยาสาขาอื่น โดยเฉพาะในด้านการตรวจวินิจฉัยทางจิตวิทยา และเพื่อธำรงไว้ถึงความตระหนักในบทบาทวิชาชีพ ในปีเดียวกัน สมาคมฯ จึงได้มีการประกาศจรรยาบรรณของนักจิตวิทยาคลินิกและจัดพิมพ์เผยแพร่แก่สมาชิกสมาคม ในปี 2526 และในปีพุทธศักราช 2534 สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกได้มีการทบทวนบทบาทและจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติงานของวิชาชีพจิตวิทยาคลินิกใหม่ให้ชัดเจนขึ้น โดยกองสุขภาพจิต กรมการแพทย์ในขณะนั้น และได้มีการปรับปรุงหลายครั้งหลายสมัยต่อเนื่องกันมาเพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล และเป็นหลักประกันคุณภาพการให้บริการของนักจิตวิทยาคลินิก

          ในปีพุทธศักราช 2546 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชได้มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้า ให้ตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้สาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการประกอบโรคศิลปะ พ.ศ. 2546 ณ วันที่ 15 กรกฎาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งเหตุผลหนึ่งในการประกาศใช้พระราชกฤษฎีกาฉบับนี้คือ สาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาหนึ่งที่กระทำต่อมนุษย์โดยตรง การวินิจฉัย การบำบัดความผิดปกติทางจิตอันเนื่องมาจากภาวะทางจิตใจ บุคลิกภาพ เชาวน์ปัญญา อารมณ์ พฤติกรรมการปรับตัว ความเครียด หรือพฤติกรรมผิดปกติอันเนื่องมาจากพยาธิสภาพทางสมอง ด้วยวิธีเฉพาะทางจิตวิทยาคลินิก อันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนที่มารับบริการ จึงถือได้ว่าเป็นการพัฒนาอีกขั้นหนึ่งที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง นับวันบทบาทของสมาคมนักจิตวิทยาคลินิกจึงมีเพิ่มขึ้นเพื่อทำหน้าที่เป็นหน่วยกลางในการพัฒนาวิชาชีพจิตวิทยาคลินิก รวมทั้งการดูแลนักจิตวิทยาคลินิก และในปีปัจจุบันมีนักจิตวิทยาคลินิกที่ผ่านการสอบและได้รับการอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบโรคศิลปะสาขาจิตวิทยาคลินิกมีจำนวนทั้งสิ้น 480 ราย

เอกสารอ้างอิง

1."พระราชกฤษฎีกา กำหนดให้สาขาจิตวิทยาคลินิกเป็นสาขาการประกอบโรคศิลปะตามพระราชบัญญัติการ ประกอบโรคศิลปะ พ.ศ.2542 พ.ศ. 2546" ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 120 ตอนที่ 7223 กรกฎาคม 2546.

2. สมทรง สุวรรณเลิศ. 30 ปี จิตวิทยาคลินิกไทย, วารสารจิตวิทยาคลินิก 2549;37:1-8

3. วารสารชมรมนักจิตวิทยาคลินิกไทย ปีที่ 1 5 กันยายน 2513

4. วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 8 ฉบับที่ 3 เดือนธันวาคม 2520

5. วารสารจิตวิทยาคลินิก ปีที่ 20 ฉบับที่ 2 กรกฎาคม – ธันวาคม 2532

6. ทะเบียนสมาคม ส. ค. 2

 

            สุพิน พรพิพัฒน์กุล

สถาบันจิตเวชศาสตร์สมเด็จเจ้าพระยา

     แก้ไขเมื่อ 26 มกราคม 2554

 

โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาสถานที่ตั้งถาวร สมาคมนักจิตวิทยาคลินิกไทย